หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2555

รัฐบาลเตรียมประกาศการบริการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินมาตรฐานเดียวกันในโรงพยาบาลทุกแห่งทั่วไทย ลดความเหลื่อมล้ำ 3 กองทุนสุขภาพ


รัฐบาลเตรียมประกาศการบริการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินมาตรฐานเดียวกันในโรงพยาบาลทุกแห่งทั่วไทย ลดความเหลื่อมล้ำ 3 กองทุนสุขภาพ 

นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมเชิงนโยบาย เรื่อง การลดความเหลื่อมล้ำระหว่าง 3 กองทุนประกันสุขภาพภาครัฐ โดยรัฐบาลเตรียมประกาศการบริการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินมาตรฐานเดียวกันในโรงพยาบาลทุกแห่งทั่วไทย ไม่มีการทวงถามสิทธิ์ ไม่ต้องสำรองจ่ายล่วงหน้าและจะให้บริการจนผู้ป่วยอาการทุเลาจึงกลับบ้านได้





          วันนี้ (13มี.ค.55) เวลา 14.00 น. ณ ห้องประชุมสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมเชิงนโยบาย เรื่อง การลดความเหลื่อมล้ำระหว่าง 3 กองทุนประกันสุขภาพภาครัฐ (กองทุนสวัสดิการข้าราชการ กองทุนประกันสังคม และกองทุนประกันสุขภาพแห่งชาติ) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กระทรวงการคลังกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)ฯลฯ ซึ่งผลการประชุมสรุปสาระสำคัญ ดังนี้
          นายกรัฐมนตรี ประธานแจ้งที่ประชุมรับทราบว่า ขอบคุณทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้ทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการในการดูแลเรื่องของสิทธิประโยชน์หลักการบริการสาธารณสุขภายใต้หลักประกันสุขภาพภาครัฐ 3 กองทุน ซึ่งมีข้อตกลงร่วมกันในเรื่องสิทธิประโยชน์หลักที่จะครอบคลุมการรักษาทุกโรคที่จำเป็น และการได้รับสิทธิการบริการขั้นพื้นฐานอย่างเท่าเทียมกันโดยอยู่บนพื้นฐานตามหลักการของแต่ละกองทุน ตลอดจนการรักษาพยาบาลในกรณีที่ประชาชนเจ็บป่วยฉุกเฉิน (ตามนิยามประกาศของคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน 15 กันยายน 2554) พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำถึงวัตถุประสงค์การประชุมเชิงนโยบายการลดความเหลื่อมล้ำระหว่าง 3 กองทุนประกันสุขภาพภาครัฐว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดความเสมอภาคทั้ง 3 กองทุน อย่างเท่าเทียมกัน แต่ไม่ใช่การรวมกองทุน ซึ่งสิ่งสำคัญคือสามารถดูแลรักษาพยาบาลประชาชนในกรณีเกิดการเจ็บป่วยฉุกเฉินได้อย่างทันท่วงที โดยทั้ง 3 กองทุนจะบูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อให้การดำเนินการมีความสะดวกรวดเร็วและเป็นไปอย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ในเรื่องของการเจ็บป่วยทั้ง 3 กองทุนนั้นมีเจตนารมณ์ที่สอดคล้องต้องกันที่ให้การดูแลรักษาพยายบาลไม่มีความเหลื่อมล้ำ ทั้งในเรื่องของรายได้ เพศหรือการศึกษาใด ๆ ทั้งสิ้น เป็นต้น
          ขณะเดียวกันในการประชุมฯวันนี้ นายกรัฐมนตรี ยังได้ติดตาม 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1. ติดตามความพร้อมการบูรณาการดูแลร่วมผู้ป่วยฉุกเฉินภายใต้มาตรฐานเดียวกันของ 3 กองทุนฯ โดยไม่มีการถามสิทธิและไม่ต้องสำรองจ่ายล่วงหน้า 2.มาตรการควบคุมราคายาและการบริโภคยาระยะยาว และ3.มาตรการสร้างเสริมสร้างสุขภาพ ป้องกันโรค
          สำหรับความคืบหน้าของการเตรียมความพร้อมให้บริการดูแลรักษาผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินของ 3 กองทุนสุขภาพ นายกรัฐมนตรีให้ทั้ง 3 หน่วยงานจัดเตรียมแผนปฏิบัติการ แก้ไขระเบียบของแต่ละกองทุนเพื่อให้เกิดเอกภาพและคล่องตัว ไม่ส่งผลกระทบกับโรงพยาบาลที่ให้บริการ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ประชุมชี้แจงทำความเข้าใจผู้บริหารโรงพยาบาลภาครัฐทั้งในและนอกสังกัด และโรงพยาบาลเอกชนทั่วประเทศแล้ว ตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม 2555 โดยในการให้บริการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินตามระบบปกติของทั้ง 3 กองทุน จะดูแลจนกว่าผู้ป่วยจะมีอาการทุเลาและกลับบ้านได้ หรือส่งต่อผู้ป่วยกลับไปดูแลต่อที่โรงพยาบาลที่อยู่ในระบบ ไม่ต้องมีระยะเวลาสิ้นสุด 72 ชั่วโมงเหมือนที่ผ่านมา โดย สปสช.จะเป็นศูนย์กลางติดตามการเบิกจ่ายค่าบริการ และได้จัดเตรียมสายด่วน 1330 พร้อมให้บริการให้ข้อมูลแก่ประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งในการดูแลประชาชนที่เจ็บป่วยฉุกเฉินทุกประเภท กระทรวงสาธารณสุขจะใช้กลไกสายด่วนกู้ชีพ 1669 มาร่วมบริการด้วย
          ส่วนมาตรการควบคุมราคายาและการบริโภคยาระยะยาวนั้น ที่ประชุมมอบหมายให้องค์การเภสัชกรรม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกับ 3 กองทุน จัดทำมาตรการเพื่อควบคุมราคายา และการบริโภคยา เช่น การรวมซื้อยาที่ส่วนกลาง หรือการต่อรองราคายา และส่งเสริมการสั่งยาโดยการใช้ชื่อสามัญทางยา เป็นต้น
          สำหรับนโยบายการสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ได้ให้ 3 กองทุนสุขภาพ และสำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) บูรณาการ ร่วมกันเสนอประเด็นลดพฤติกรรมเสี่ยงที่สำคัญ และลดการเจ็บป่วย ซึ่งจะมีผลในการลดความจำเป็นในการเข้าสู่บริการบำบัดรักษาใน 5 เรื่องสำคัญในเบื้องต้น ให้เกิดประสิทธิภาพ ได้แก่ 1. การพัฒนาศูนย์เด็กเล็กให้ปลอดภัย ถูกสุขลักษณะและส่งเสริมพัฒนาการเด็ก
          2. พัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชนในระดับตำบล เพิ่มพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กเยาวชน ลดพฤติกรรมเสี่ยงการดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ใช้สารเสพติด 3. พัฒนาระบบการให้บริการเพื่อช่วยเลิกสูบบุหรี่ ผลสำรวจล่าสุดคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป สูบบุหรี่ 11.5 ล้านคน 4. พัฒนาระบบการให้บริการเพื่อช่วยเลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งมีข้อมูลในปี 2551 พบว่าประชาชนวัย 15-59 ปี เข้าข่ายมีความผิดปกติจากการดื่มสุรามากถึง 5 ล้านคน ในจำนวนนี้มีปัญหาติดสุราอย่างน้อย 3 ล้านคน
          และ 5. การดูแลผู้ป่วยในช่วงสุดท้ายของชีวิต เผชิญความตายอย่างสงบ ปราศจากความเจ็บปวด แต่ละปีมีคนไทยเสียชีวิต 4.5- 5 แสนคน สาเหตุการตายอันดับ 1 คือมะเร็ง รองลงมาคืออุบัติเหตุ โรคหัวใจ โดยการตายที่โรงพยาบาลมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 28.2 ในปี 2532 เป็นร้อยละ 39.3 ในปี 2548 และพบว่าครัวเรือนมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 3,763 บาทสำหรับผู้ป่วยนอก 3 เดือนก่อนตาย และ 15,767 บาทสำหรับผู้ป่วยใน 6 เดือนก่อนตาย ในขณะที่โรงพยาบาลมีค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายในโรคทั่วๆไปเฉลี่ย 64,106 บาทต่อคนต่อปี แต่ในผู้ป่วยโรคมะเร็งค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 80,780 บาทต่อคนต่อปี
          อย่างไรก็ตามในส่วนของการพัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เพื่อสุขภาวะเด็กปฐมวัย นั้น นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ สสส. มีการดูแลจนครอบคลุมถึงกลุ่มเด็กเล็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา คือ ระหว่าง 0-6 ปี ด้วย ซึ่ง สสส.รับที่จะไปพิจารณาดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

------------------------------------------------------------

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
นายกฯปู ประชุมลดความเหลื่อมล้ำ 3 กองทุนประกันสุขภาพ



หนังสือพิมพ์ข่าวสด
นายกฯ จัดเต็มบริการผู้ป่วยฉุกเฉิน ลดความเหลื่อมล้ำความเหลื่อมล้ำระหว่าง 3 กองทุน ประกันสุขภาพภาครัฐ ประกอบด้วยกองทุนสวัสดิการข้าราชการ กองทุนประกันสังคม และกองทุนประกันสุขภาพแห่งชาติ


หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
'ผู้ป่วยฉุกเฉิน'3กองทุนรักษาได้ทุกรพ.จนทุเลา
อ่านเพิ่มเติม CLICK

หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์
ภูมิคุ้มกัน
ระยะเวลาเพียง 1 ปีเศษ พิสูจน์แล้วว่าช่องว่างระหว่าง 3 กองทุนสุขภาพ ที่เคยถ่างอ้าเริ่มบีบแคบลงมา ความลักลั่นของสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนเริ่มได้รับการเหลียวแล..
อ่านเพิ่มเติม CLICK


1เม.ย.เข้าฉุกเฉินได้ทุกรพ.ทั้งรัฐ-เอกชนไม่ถามสิทธิรักษา3กองทุนรับเคลียร์ค่าใช้จ่ายเอง

          โพสต์ทูเดย์ -รัฐบาลดีเดย์ 1 เม.ย. เจ็บป่วยฉุกเฉินเข้ารักษาได้ทุกโรงพยาบาลทั่วประเทศ
          ที่ประชุมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำระหว่าง 3 กองทุนประกันสุขภาพภาครัฐ ที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่13 มี.ค. ได้เห็นชอบให้ผู้ป่วยฉุกเฉินสามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลได้ทุกโรงพยาบาลทั่วประเทศทั้งของรัฐและเอกชน ในวันที่ 1 เม.ย.นี้
          ทั้งนี้ ทั้ง 3 กองทุนประกันสุขภาพประกอบด้วย ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ระบบประกันสังคมและสวัสดิการข้าราชการ จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในภายหลัง
          นายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่านโยบายดังกล่าวทุกโรงพยาบาลจะไม่ถามสิทธิประกันสุขภาพของผู้ป่วย และผู้ป่วยไม่ต้องสำรองจ่ายล่วงหน้า แต่ให้รักษาไปจนกว่าอาการทุเลา หรือจนกว่าจะสามารถส่งต่อผู้ป่วยกลับไปดูแลต่อยังโรงพยาบาลที่อยู่ในระบบได้
          นายวิทยา กล่าวอีกว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้สั่งให้ทั้ง 3 กองทุนสุขภาพจัดเตรียมแผนปฏิบัติการแก้ไขระเบียบของแต่ละกองทุน เพื่อให้เกิดเอกภาพและคล่องตัว ไม่ส่งผลกระทบกับโรงพยาบาลที่ให้บริการ
          นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทำหน้าที่เป็นหน่วยจ่ายกลาง (Clearing House) ให้โรงพยาบาลที่ไม่ได้เข้าร่วมใน 3 ระบบประกันสุขภาพ เข้ามาเบิกจ่ายการรักษาพยาบาลแก่ผู้เจ็บป่วยฉุกเฉิน
          อีกทั้งให้จัดเตรียมสายด่วน1330 และสายด่วนกู้ชีพของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ 1669 มาร่วมบริการด้วย ซึ่งได้กำหนดอัตราการเบิกจ่ายให้กับโรงพยาบาลสำหรับผู้ป่วยในที่เจ็บป่วยฉุกเฉินตามน้ำหนักสัมพัทธ์เฉลี่ยของโรค(RW) เริ่มต้นที่ 1.05 หมื่นบาท
          ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่าวัตถุประสงค์ของการประชุม คือเพื่อบูรณาการและสร้างความเสมอภาคของ 3 กองทุนสุขภาพ แต่ไม่ใช่การรวมกองทุน โดยมุ่งหมายให้ประชาชนที่ป่วยฉุกเฉินได้รับการรักษาทันท่วงที ส่วนเรื่องอื่นๆค่อยให้แต่ละกองทุนไปบูรณาการจัดการเอง
          น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังได้มอบหมายให้องค์การเภสัชกรรม และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกับ 3 กองทุนสุขภาพ จัดทำมาตรการควบคุมราคายาและการบริโภคยาอาทิ การรวมซื้อยาที่ส่วนกลาง การต่อรองราคา การสั่งยาโดยการใช้ชื่อสามัญทางยา



หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ผู้ป่วยฉุกเฉินเข้ารักษาทุกรพ.ฟรี




สำนักข่าวไทย MCOT
นายกฯ ให้ 3 กองทุนประกันสุขภาพภาครัฐแก้ไขระเบียบการดูแลผู้ป่วย



หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการรายวัน
“ยิ่งลักษณ์” ถกลกความเหลื่อมล้ำ 3 กองทุนประกันสุขภาพรัฐ “วิทยา” เผย นายกฯ สั่งเตรียมแผนแก้ระเบียบกองทุน ให้มีเอกภาพ ให้เภสัช-อย.ทำมาตรการควบคุมราคายา


-------------------------------------------------------------------------------------------------------









ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น