หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2555






การประชุมวิชาการการแพทย์ฉุกเฉินระดับชาติ (EMS FORUM) ครั้งที่ 6 ประจำปี 2555









สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น
วันที่ 7 มีนาคม 2555
อ่านต่อที่    http://www.innnews.co.th/shownews/show?newscode=364028      

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  เปิดประชุมวิชาการแพทย์ฉุกเฉินระดับชาติ ครั้งที่ 6 มุ่งเตรียมบุคลากรพร้อมเผชิญภัยพิบัติ
          โรงแรมสุนีย์แกรนด์ โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ จ.อุบลราชธานี วันนี้ นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีเปิดงานจัดประชุมวิชาการแพทย์ฉุกเฉินระดับชาติประจำปี 2555 ครั้งที่ 6 หัวข้อสัมมนาเรื่อง การแพทย์ฉุกเฉินไทย ฝ่าภัยพิบัติ 2012 ระหว่างวันที่ 7 - 9 มี.ค. ณ โรงแรมสุนีย์แกรนด์ โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ จ.อุบลราชธานี วัตถุประสงค์ในการประชุมสัมมนาวิชาการครั้งนี้ เพื่อเป็นการพัฒนาความรู้ทางด้านการแพทย์ฉุกเฉิน และเป็นเวทีระดับชาติ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ปฏิบัติงานทุกระดับในระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ผู้ประชุมประกอบไปด้วย นายแพทย์ ผู้บริหารและเครือข่ายเกี่ยวข้องจากทั่วประเทศ ได้พบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และเผยแพร่ด้านผลงานด้านวิชาการแพทย์ดีเด่นประจำปี รวมทั้งเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ภัยพิบัติ ที่มีแนวโน้มเกิดขึ้นได้บ่อย และกระตุ้นให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ตระหนักถึงความจำเป็นของการพัฒนาระบบแพทย์ฉุกเฉินไทย เพื่อเตรียมพร้อมเผชิญภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต


-------------------------------------------------



หนังสือพิมพ์บ้านเมือง
วันที่ 7 มีนาคม 2555
อ่านฉบับเต็มที่



การแพทย์ฉุกเฉินไทย ฝ่าภัยพิบัติ 2012
สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) จัดการประชุมวิชาการการแพทย์ฉุกเฉินระดับชาติครั้งที่ 6 (EMS FORUM) ขึ้นภายใต้หัวข้อ “การแพทย์ฉุกเฉินไทย ฝ่าภัยพิบัติ 2012″ โดยมีนายวิทยา บุรณศิริ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการแพทย์ฉุกเฉิน (กพฉ.) เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วย นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ชาตรี เจริญชีวะกุล เลขาธิการ สพฉ. และผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข

นายวิทยา กล่าวว่า การประชุมวิชาการครั้งนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 6 ซึ่งสพฉ.ร่วมกับ จ.อุบลราชธานี เป็นเจ้าภาพการจัดงาน โดยจากประเด็นหลักของการประชุม เป็นเรื่องภัยพิบัติที่กำลังอยู่ในความสนใจ และสังคมกำลังตื่นตัว ดังนั้นในด้านการแพทย์ฉุกเฉิน จึงน่าจะใช้โอกาสนี้ ร่วมผลักดันและเร่งพัฒนา โดยเป้าหมายของการพัฒนาด้านการแพทย์ฉุกเฉินคือ การป้องกันภาวะการเจ็บป่วยฉุกเฉินให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด โดยประชาชนต้องเข้าถึงการบริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ตามนโยบาย 3 เร็ว 2 ดี คือ โทรแจ้งเหตุเร็ว ชุดปฏิบัติการออกไปรับผู้ป่วยฉุกเฉินเร็วและนำส่งรักษาต่อยังโรงพยาบาลเร็ว ทั้งในสภาวะปกติ และในสภาวะภัยพิบัติ

นายวิทยา กล่าวต่อว่า ทุกวันนี้มีหลายเหตุการณ์เกิดขึ้น ทั้งสึนามิ ดินโคลนถล่ม อุทกภัย รวมถึงปัญหาหมอกควันในภาคเหนือที่กำลังเกิดขึ้น ล้วนแต่เป็นเรื่องท้าทายมากสำหรับงานด้านการแพทย์ฉุกเฉิน ซึ่งตนเชื่อมั่นในความสามารถ ในขณะเดียวกันนายกรัฐมนตรีก็เห็นถึงความสำคัญของงานและพร้อมสนับสนุนผลักดัน โดยภายหลังแผนหลักการแพทย์ฉุกเฉินปี 2553-2555 ก็ได้เพิ่มการเตรียมความพร้อมในการตอบโต้กับเหตุการณ์ต่างๆ ไว้ด้วย นอกจากนี้ผลการดำเนินงานของการแพทย์ฉุกเฉินในปัจจุบันก็ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าเรามีองค์ประกอบหลายอย่างที่เป็นตัวบ่งชี้ให้เห็นชัดว่าเราจะก้าวผ่านเหตุการณ์ต่างๆไปได้ สำหรับการประเมินและการสรุปผลการปฏิบัติงานของการแพทย์ฉุกเฉินซึ่งผลออกมาก็เป็นที่น่าพอใจ โดยสามารถให้บริการผู้ป่วยฉุกเฉิน ทั้งสิ้น 1.47 ล้านราย ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2554 ถึง 21% และในช่วงมหาอุทกภัย ระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินได้ทำหน้าที่ช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินได้อย่างเต็มที่ จำนวน 2,096 ราย ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศยาน ดังนั้นการประชุมวิชาการครั้งนี้ จึงหวังว่าจะมีการเตรียมพร้อมและพัฒนา เพื่อหาแนวทางการตอบโต้และรับมือกับภัยภิบัติให้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะที่จ.อุบลราชธานี ที่รับเป็นเจ้าภาพ เป็นจังหวัดที่โดดเด่น และเป็นต้นแบบของการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินอีกด้วย

ขณะที่ นพ.ชาตรี กล่าวว่า การประชุมวิชาการนี้ สพฉ.ได้จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี โดยหมุนเวียนให้แต่ละจังหวัดรับเป็นเจ้าภาพในการจัดงาน เพื่อให้แต่ละจังหวัด หรือแต่ละภูมิภาค ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนรูปแบบของระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน หรือนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อร่วมกับพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินต่อไป

สำหรับหัวข้อการประชุมวิชาการที่น่าสนใจ อาทิ นวัตกรรมการแพทย์ฉุกเฉิน เรื่องใหม่ๆ ด้านการแพทย์ฉุกเฉิน การพัฒนาผู้ปฏิบัติการ ระบบรับแจ้งเหตุและสั่งการ การเตรียมพร้อมของโรงพยาบาลในภาวะภัยพิบัติ ระบบบัญชาการในเหตุการณ์ภัยพิบัติ การเตรียมพร้อมโรงพยาบาลหรือศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการเมื่อเกิดภัยพิบัติ นอกจากนี้ยังมีเวทีนำเสนอผลงานทางวิชาการ และนวัตกรรมด้านการแพทย์ฉุกเฉิน ซึ่งมีผู้ผ่านการคัดเลือกจำนวน 54 ผลงาน และนิทรรศการผลงานดีเด่นจำนวน 15 แห่ง การประกวดผลงานการแพทย์ฉุกเฉินดีเด่นระดับเขตและระดับประเทศจำนวน 101 รางวัล เพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาต่อไปด้วย

พร้อมกันนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบรางวัลให้กับเขตตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข และจังหวัดที่มีผลงานด้านการแพทย์ฉุกเฉินดีเด่น คือ เขตตรวจราชการที่ 10 (จ.อุดรธานี จ.หนองบัวลำภู จ.หนองคาย จ.เลย จ.บึงกาฬ) เขตตรวจราชการที่ 3 (จ.ฉะเชิงเทรา จ.สมุทรปราการ จ.นครนายก จ.สระแก้ว จ.ปราจีนบุรี) เขตตรวจราชการที่ 16 (จ.เชียงราย จ.น่าน จ.พะเยา จ.แพร่) เขตตรวจราชการที่ 12 (จ.ขอนแก่น จ.มหาสารคาม จ.ร้อยเอ็ด จ.กาฬสินธ์) และเขตตรวจราชการที่ 2 (จ.ลพบุรี จ.ชัยนาท จ.สิงห์บุรี จ.อ่างทอง) และรางวัลชุดปฏิบัติการดีเด่นทั้งในระดับชุดปฏิบัติการฉุกเฉินระดับสูง (ALS) ชุดปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินระดับต้น (BLS) และชุดปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินเบื้องต้น (FR) จากนั้นได้มอบรางวัลการแข่งขัน EMS RALLY ประจำปี 2555 และมอบเข็มเชิดชูเกียรติให้ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อระบบการแพทย์ฉุกเฉินจำนวน 382 คน เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กับผู้ปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉิน ที่เป็นผู้เสียสละและมีจิตใจที่อาสาช่วยเหลือสังคม
-------------------------------------------------



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น