หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2555

ห่วงอากาศร้อน 'เด็ก-คนแก่-ผู้มีโรคประจำตัว' เสี่ยงเจ็บป่วยฉุกเฉิน

ห่วงอากาศร้อน 'เด็ก-คนแก่-ผู้มีโรคประจำตัว' เสี่ยงเจ็บป่วยฉุกเฉิน




หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ



หวั่นอากาศร้อน 'เด็ก-คนแก่-ผู้มีโรคประจำตัว' เสี่ยงเจ็บป่วยฉุกเฉิน

 

          สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ห่วงอากาศร้อน กระทบเด็กเล็ก-ผู้สูงอายุ-ผู้มีโรคประจำตัว เสี่ยงเกิดภาวะเจ็บป่วยฉุกเฉิน เปิดสายด่วน 1669 ให้ความช่วยเหลือ...
          เมื่อวันที่ 20 มี.ค. นพ.ชาตรี เจริญชีวะกุล เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า ขณะนี้สภาพอากาศในหลายภูมิภาคค่อนข้างร้อนอบอ้าว ดังนั้นจึงเป็นห่วงอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินที่สืบเนื่องจากความร้อน คือปกติร่างกายคนเรามีอุณหภูมิประมาณ 36 - 37 องศาเซลเซียส ถ้าอากาศร้อนมากจนร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้น แต่ไม่ถึง 40 องศาเซลเซียส อาจเกิดอาการเพลียแดดได้ แต่หากอุณหภูมิสูงเกิน 40 องศาเซลเซียส อาจก่อให้เกิดอันตราย และเกิดอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินอย่างฉับพลันได้ เช่น โรคลมแดด หรือเริ่มมีอาการทางสมอง เช่น ซึม สับสน ชักเกร็งหรือหมดสติ หรือมีอัตราการหายใจและชีพจรไม่สม่ำเสมอคือ ชีพจรเต้นเร็วกว่า 140 ครั้งต่อนาที มีความดันโลหิตสูง
          ทั้งนี้ ผู้ที่พบเห็นผู้ป่วยที่มีอาการดังกล่าว หรือพบว่ามีอาการน่าสงสัยว่าจะมีภาวะเจ็บป่วยฉุกเฉินให้รีบโทรแจ้งที่สายด่วนเจ็บป่วยฉุกเฉินโทร 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือและให้ปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด โดยเบื้องต้นให้นำผู้ป่วยออกจากบริเวณที่อากาศร้อน ไปในบริเวณที่มีอากาศถ่ายเท และตรวจดูการหายใจ คือต้องดูให้แน่ใจว่าไม่มีอะไรค้างอยู่ในปาก-จมูกหรือไม่ จัดศีรษะให้เงยขึ้น โดยมือหนึ่งจับที่หน้าผาก และอีกมือหนึ่งชันคางขึ้นจะทำให้ช่องทางเดินหายใจเปิด และหากเกรงว่าจะมีอาการสำลักให้ผู้ป่วยนอนในตะแคงกึ่งคว่ำ งอสะโพก งอเข่าพอสมควร แต่ถ้าผู้ป่วยหมดสติและอาเจียน ให้จับศีรษะผู้ป่วยหันไปด้านข้าง เพื่อลดการสำลัก
          นพ.ชาตรี กล่าวต่อว่า ภาวะเจ็บป่วยฉุกเฉินจากสภาพอากาศร้อน เกิดได้กับทุกคนที่ถูกแดดจัดหรืออยู่ในที่ๆ ร้อนจัดเป็นเวลานาน แต่ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะนี้ได้ง่ายขึ้นได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว อาทิ โรคหัวใจ โรคปอด โรคทางสมอง เป็นต้น ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งเป็นระยะเวลานาน และควรดื่มน้ำบ่อยๆ หรือหาผ้าชุบน้ำประคบเพื่อลดความร้อนของร่างกาย.



หนังสือพิมพ์มติชน




สำนักข่าวไทย




ASTVผู้จัดการออนไลน์ 


สพฉ.ห่วงอากาศร้อนกระทบเด็ก-คนแก่เจ็บป่วยฉุกเฉิน

       นายแพทย์ชาตรี เจริญชีวะกุล เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า สภาพอากาศในหลายภูมิภาค ค่อนข้างร้อนอบอ้าว ขณะนี้ จึงเป็นห่วงอากาศเจ็บป่วยฉุกเฉินที่สืบเนื่องจากความร้อน คือ ปกติร่างกายคนมีอุณหภูมิประมาณ 36-37 องศาเซลเซียส ถ้าอากาศร้อนมากจนร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้น แต่ไม่ถึง 40 องศาเซลเซียส อาจเกิดอาการเพลียแดด แต่หากอุณหภูมิสูงเกิน 40 องศาเซลเซียส อาจก่อให้เกิดอันตราย และเกิดอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินฉับพลันได้ เช่น โรคลมแดด หรือเริ่มมีอาการทางสมอง เช่น ซึม สับสน ชักเกร็ง หมดสติ หรือมีอัตราการหายใจ และชีพจรไม่สม่ำเสมอ เต้นเร็วกว่า 140 ครั้งต่อนาที ความดันโลหิตสูง หากพบเห็นผู้ป่วยอาการดังกล่าว หรือพบว่ามีอาการน่าสงสัยว่าจะมีภาวะเจ็บป่วยฉุกเฉิน ให้รีบโทรแจ้งที่สายด่วน เจ็บป่วยฉุกเฉิน 1669






วันอังคารที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2555

รัฐบาลเตรียมประกาศการบริการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินมาตรฐานเดียวกันในโรงพยาบาลทุกแห่งทั่วไทย ลดความเหลื่อมล้ำ 3 กองทุนสุขภาพ


รัฐบาลเตรียมประกาศการบริการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินมาตรฐานเดียวกันในโรงพยาบาลทุกแห่งทั่วไทย ลดความเหลื่อมล้ำ 3 กองทุนสุขภาพ 

นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมเชิงนโยบาย เรื่อง การลดความเหลื่อมล้ำระหว่าง 3 กองทุนประกันสุขภาพภาครัฐ โดยรัฐบาลเตรียมประกาศการบริการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินมาตรฐานเดียวกันในโรงพยาบาลทุกแห่งทั่วไทย ไม่มีการทวงถามสิทธิ์ ไม่ต้องสำรองจ่ายล่วงหน้าและจะให้บริการจนผู้ป่วยอาการทุเลาจึงกลับบ้านได้





          วันนี้ (13มี.ค.55) เวลา 14.00 น. ณ ห้องประชุมสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมเชิงนโยบาย เรื่อง การลดความเหลื่อมล้ำระหว่าง 3 กองทุนประกันสุขภาพภาครัฐ (กองทุนสวัสดิการข้าราชการ กองทุนประกันสังคม และกองทุนประกันสุขภาพแห่งชาติ) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กระทรวงการคลังกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)ฯลฯ ซึ่งผลการประชุมสรุปสาระสำคัญ ดังนี้
          นายกรัฐมนตรี ประธานแจ้งที่ประชุมรับทราบว่า ขอบคุณทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้ทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการในการดูแลเรื่องของสิทธิประโยชน์หลักการบริการสาธารณสุขภายใต้หลักประกันสุขภาพภาครัฐ 3 กองทุน ซึ่งมีข้อตกลงร่วมกันในเรื่องสิทธิประโยชน์หลักที่จะครอบคลุมการรักษาทุกโรคที่จำเป็น และการได้รับสิทธิการบริการขั้นพื้นฐานอย่างเท่าเทียมกันโดยอยู่บนพื้นฐานตามหลักการของแต่ละกองทุน ตลอดจนการรักษาพยาบาลในกรณีที่ประชาชนเจ็บป่วยฉุกเฉิน (ตามนิยามประกาศของคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน 15 กันยายน 2554) พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำถึงวัตถุประสงค์การประชุมเชิงนโยบายการลดความเหลื่อมล้ำระหว่าง 3 กองทุนประกันสุขภาพภาครัฐว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดความเสมอภาคทั้ง 3 กองทุน อย่างเท่าเทียมกัน แต่ไม่ใช่การรวมกองทุน ซึ่งสิ่งสำคัญคือสามารถดูแลรักษาพยาบาลประชาชนในกรณีเกิดการเจ็บป่วยฉุกเฉินได้อย่างทันท่วงที โดยทั้ง 3 กองทุนจะบูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อให้การดำเนินการมีความสะดวกรวดเร็วและเป็นไปอย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ในเรื่องของการเจ็บป่วยทั้ง 3 กองทุนนั้นมีเจตนารมณ์ที่สอดคล้องต้องกันที่ให้การดูแลรักษาพยายบาลไม่มีความเหลื่อมล้ำ ทั้งในเรื่องของรายได้ เพศหรือการศึกษาใด ๆ ทั้งสิ้น เป็นต้น
          ขณะเดียวกันในการประชุมฯวันนี้ นายกรัฐมนตรี ยังได้ติดตาม 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1. ติดตามความพร้อมการบูรณาการดูแลร่วมผู้ป่วยฉุกเฉินภายใต้มาตรฐานเดียวกันของ 3 กองทุนฯ โดยไม่มีการถามสิทธิและไม่ต้องสำรองจ่ายล่วงหน้า 2.มาตรการควบคุมราคายาและการบริโภคยาระยะยาว และ3.มาตรการสร้างเสริมสร้างสุขภาพ ป้องกันโรค
          สำหรับความคืบหน้าของการเตรียมความพร้อมให้บริการดูแลรักษาผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินของ 3 กองทุนสุขภาพ นายกรัฐมนตรีให้ทั้ง 3 หน่วยงานจัดเตรียมแผนปฏิบัติการ แก้ไขระเบียบของแต่ละกองทุนเพื่อให้เกิดเอกภาพและคล่องตัว ไม่ส่งผลกระทบกับโรงพยาบาลที่ให้บริการ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ประชุมชี้แจงทำความเข้าใจผู้บริหารโรงพยาบาลภาครัฐทั้งในและนอกสังกัด และโรงพยาบาลเอกชนทั่วประเทศแล้ว ตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม 2555 โดยในการให้บริการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินตามระบบปกติของทั้ง 3 กองทุน จะดูแลจนกว่าผู้ป่วยจะมีอาการทุเลาและกลับบ้านได้ หรือส่งต่อผู้ป่วยกลับไปดูแลต่อที่โรงพยาบาลที่อยู่ในระบบ ไม่ต้องมีระยะเวลาสิ้นสุด 72 ชั่วโมงเหมือนที่ผ่านมา โดย สปสช.จะเป็นศูนย์กลางติดตามการเบิกจ่ายค่าบริการ และได้จัดเตรียมสายด่วน 1330 พร้อมให้บริการให้ข้อมูลแก่ประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งในการดูแลประชาชนที่เจ็บป่วยฉุกเฉินทุกประเภท กระทรวงสาธารณสุขจะใช้กลไกสายด่วนกู้ชีพ 1669 มาร่วมบริการด้วย
          ส่วนมาตรการควบคุมราคายาและการบริโภคยาระยะยาวนั้น ที่ประชุมมอบหมายให้องค์การเภสัชกรรม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกับ 3 กองทุน จัดทำมาตรการเพื่อควบคุมราคายา และการบริโภคยา เช่น การรวมซื้อยาที่ส่วนกลาง หรือการต่อรองราคายา และส่งเสริมการสั่งยาโดยการใช้ชื่อสามัญทางยา เป็นต้น
          สำหรับนโยบายการสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ได้ให้ 3 กองทุนสุขภาพ และสำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) บูรณาการ ร่วมกันเสนอประเด็นลดพฤติกรรมเสี่ยงที่สำคัญ และลดการเจ็บป่วย ซึ่งจะมีผลในการลดความจำเป็นในการเข้าสู่บริการบำบัดรักษาใน 5 เรื่องสำคัญในเบื้องต้น ให้เกิดประสิทธิภาพ ได้แก่ 1. การพัฒนาศูนย์เด็กเล็กให้ปลอดภัย ถูกสุขลักษณะและส่งเสริมพัฒนาการเด็ก
          2. พัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชนในระดับตำบล เพิ่มพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กเยาวชน ลดพฤติกรรมเสี่ยงการดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ใช้สารเสพติด 3. พัฒนาระบบการให้บริการเพื่อช่วยเลิกสูบบุหรี่ ผลสำรวจล่าสุดคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป สูบบุหรี่ 11.5 ล้านคน 4. พัฒนาระบบการให้บริการเพื่อช่วยเลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งมีข้อมูลในปี 2551 พบว่าประชาชนวัย 15-59 ปี เข้าข่ายมีความผิดปกติจากการดื่มสุรามากถึง 5 ล้านคน ในจำนวนนี้มีปัญหาติดสุราอย่างน้อย 3 ล้านคน
          และ 5. การดูแลผู้ป่วยในช่วงสุดท้ายของชีวิต เผชิญความตายอย่างสงบ ปราศจากความเจ็บปวด แต่ละปีมีคนไทยเสียชีวิต 4.5- 5 แสนคน สาเหตุการตายอันดับ 1 คือมะเร็ง รองลงมาคืออุบัติเหตุ โรคหัวใจ โดยการตายที่โรงพยาบาลมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 28.2 ในปี 2532 เป็นร้อยละ 39.3 ในปี 2548 และพบว่าครัวเรือนมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 3,763 บาทสำหรับผู้ป่วยนอก 3 เดือนก่อนตาย และ 15,767 บาทสำหรับผู้ป่วยใน 6 เดือนก่อนตาย ในขณะที่โรงพยาบาลมีค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายในโรคทั่วๆไปเฉลี่ย 64,106 บาทต่อคนต่อปี แต่ในผู้ป่วยโรคมะเร็งค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 80,780 บาทต่อคนต่อปี
          อย่างไรก็ตามในส่วนของการพัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เพื่อสุขภาวะเด็กปฐมวัย นั้น นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ สสส. มีการดูแลจนครอบคลุมถึงกลุ่มเด็กเล็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา คือ ระหว่าง 0-6 ปี ด้วย ซึ่ง สสส.รับที่จะไปพิจารณาดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

------------------------------------------------------------

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
นายกฯปู ประชุมลดความเหลื่อมล้ำ 3 กองทุนประกันสุขภาพ



หนังสือพิมพ์ข่าวสด
นายกฯ จัดเต็มบริการผู้ป่วยฉุกเฉิน ลดความเหลื่อมล้ำความเหลื่อมล้ำระหว่าง 3 กองทุน ประกันสุขภาพภาครัฐ ประกอบด้วยกองทุนสวัสดิการข้าราชการ กองทุนประกันสังคม และกองทุนประกันสุขภาพแห่งชาติ


หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
'ผู้ป่วยฉุกเฉิน'3กองทุนรักษาได้ทุกรพ.จนทุเลา
อ่านเพิ่มเติม CLICK

หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์
ภูมิคุ้มกัน
ระยะเวลาเพียง 1 ปีเศษ พิสูจน์แล้วว่าช่องว่างระหว่าง 3 กองทุนสุขภาพ ที่เคยถ่างอ้าเริ่มบีบแคบลงมา ความลักลั่นของสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนเริ่มได้รับการเหลียวแล..
อ่านเพิ่มเติม CLICK


1เม.ย.เข้าฉุกเฉินได้ทุกรพ.ทั้งรัฐ-เอกชนไม่ถามสิทธิรักษา3กองทุนรับเคลียร์ค่าใช้จ่ายเอง

          โพสต์ทูเดย์ -รัฐบาลดีเดย์ 1 เม.ย. เจ็บป่วยฉุกเฉินเข้ารักษาได้ทุกโรงพยาบาลทั่วประเทศ
          ที่ประชุมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำระหว่าง 3 กองทุนประกันสุขภาพภาครัฐ ที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่13 มี.ค. ได้เห็นชอบให้ผู้ป่วยฉุกเฉินสามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลได้ทุกโรงพยาบาลทั่วประเทศทั้งของรัฐและเอกชน ในวันที่ 1 เม.ย.นี้
          ทั้งนี้ ทั้ง 3 กองทุนประกันสุขภาพประกอบด้วย ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ระบบประกันสังคมและสวัสดิการข้าราชการ จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในภายหลัง
          นายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่านโยบายดังกล่าวทุกโรงพยาบาลจะไม่ถามสิทธิประกันสุขภาพของผู้ป่วย และผู้ป่วยไม่ต้องสำรองจ่ายล่วงหน้า แต่ให้รักษาไปจนกว่าอาการทุเลา หรือจนกว่าจะสามารถส่งต่อผู้ป่วยกลับไปดูแลต่อยังโรงพยาบาลที่อยู่ในระบบได้
          นายวิทยา กล่าวอีกว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้สั่งให้ทั้ง 3 กองทุนสุขภาพจัดเตรียมแผนปฏิบัติการแก้ไขระเบียบของแต่ละกองทุน เพื่อให้เกิดเอกภาพและคล่องตัว ไม่ส่งผลกระทบกับโรงพยาบาลที่ให้บริการ
          นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทำหน้าที่เป็นหน่วยจ่ายกลาง (Clearing House) ให้โรงพยาบาลที่ไม่ได้เข้าร่วมใน 3 ระบบประกันสุขภาพ เข้ามาเบิกจ่ายการรักษาพยาบาลแก่ผู้เจ็บป่วยฉุกเฉิน
          อีกทั้งให้จัดเตรียมสายด่วน1330 และสายด่วนกู้ชีพของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ 1669 มาร่วมบริการด้วย ซึ่งได้กำหนดอัตราการเบิกจ่ายให้กับโรงพยาบาลสำหรับผู้ป่วยในที่เจ็บป่วยฉุกเฉินตามน้ำหนักสัมพัทธ์เฉลี่ยของโรค(RW) เริ่มต้นที่ 1.05 หมื่นบาท
          ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่าวัตถุประสงค์ของการประชุม คือเพื่อบูรณาการและสร้างความเสมอภาคของ 3 กองทุนสุขภาพ แต่ไม่ใช่การรวมกองทุน โดยมุ่งหมายให้ประชาชนที่ป่วยฉุกเฉินได้รับการรักษาทันท่วงที ส่วนเรื่องอื่นๆค่อยให้แต่ละกองทุนไปบูรณาการจัดการเอง
          น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังได้มอบหมายให้องค์การเภสัชกรรม และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกับ 3 กองทุนสุขภาพ จัดทำมาตรการควบคุมราคายาและการบริโภคยาอาทิ การรวมซื้อยาที่ส่วนกลาง การต่อรองราคา การสั่งยาโดยการใช้ชื่อสามัญทางยา



หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ผู้ป่วยฉุกเฉินเข้ารักษาทุกรพ.ฟรี




สำนักข่าวไทย MCOT
นายกฯ ให้ 3 กองทุนประกันสุขภาพภาครัฐแก้ไขระเบียบการดูแลผู้ป่วย



หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการรายวัน
“ยิ่งลักษณ์” ถกลกความเหลื่อมล้ำ 3 กองทุนประกันสุขภาพรัฐ “วิทยา” เผย นายกฯ สั่งเตรียมแผนแก้ระเบียบกองทุน ให้มีเอกภาพ ให้เภสัช-อย.ทำมาตรการควบคุมราคายา


-------------------------------------------------------------------------------------------------------










จับตารอยเลื่อนศรีสวัสดิ์-แม่เมาะ "ดร.พิจิตต"เตือนอีก พบ2-3เดือนผ่านมา เคลื่อนไหวผิดปกติ 


หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ (กรอบบ่าย)
ฉบับวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2555



          “พิจิตต” เตือนจับตา 13 รอยเลื่อนในไทย พบรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์-รอยเลื่อนแม่เมาะ เคลื่อนไหวผิดปกติส่งผลกระทบเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน กาญจนบุรี ชี้ไทยต้องพร้อมรับมือภัยพิบัติหลายรูปแบบ ลมจะแรงขึ้น ภาคใต้อาจจะเจอพายุที่รุนแรงเหมือน “พายุเกย์” เพราะการเปลี่ยนผ่านของมรสุมจาก “ฟิลิปปินส์” ส่วนภาคกลางจะเกิดการยุบตัวของพื้นดินกลายเป็นแอ่งลึก

            ที่โรงแรมแกรนด์สุนีย์แกรนด์ จ.อุบลราชธานี เมื่อวันที่ 7 มี.ค. สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) จัดการประชุมวิชาการการแพทย์ฉุกเฉินระดับ ชาติ ครั้งที่ 6 ภายใต้หัวข้อ “การแพทย์ฉุกเฉินไทย ฝ่าภัยพิบัติ 2012” ภายในงานมีการปาฐกถาพิเศษ เรื่องความเสี่ยง โอกาส และความท้าทาย ในการจัด การภัยพิบัติของโลกและไทย โดย ดร.พิจิตต รัตต-กุล คณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน(กพฉ.) และผอ.บริหารศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย (ADPC) กล่าวว่า ในวันข้างหน้าจะมีภัยพิบัติเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ดังนั้น สถาบันการ-แพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) จะต้องเตรียมความ พร้อมให้สูงขึ้น เพราะเราคงไม่สามารถหยุดยั้งภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นได้ แต่สามารถยับยั้งความเสียหายที่จะเกิดขึ้นได้ ซึ่งความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทยมีหลายรูปแบบ ทั้งเรื่องการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น ที่ส่งผลให้เกิดปริมาณฝนที่หนาแน่น ฝนจะตกมากขึ้น น้ำทะเลจะหนุนสูงขึ้น ทำให้เกิดการ เปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำ จนเกิดการกัดเซาะชายฝั่ง อย่างรุนแรงและมหาศาล การยุบตัวของดินจะเกิดขึ้นเรื่อยๆ และขยายเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะในส่วนของ ภาคกลาง พื้นแผ่นดินจะกลายเป็นแอ่งลึกลงไป ทางภาคใต้ต้องเตรียมรับมือกับพายุที่มีความรุนแรงเหมือน พายุเกย์ เพราะการเปลี่ยนผ่านของมรสุมจากประเทศฟิลิปปินส์ที่เปลี่ยนทิศทางการเดินทาง
ดร.พิจิตตกล่าวต่อไปว่า เราต้องเตรียมพร้อมรับมือ อาทิ เรื่องปัญหาอาคารทรุด หน่วยแพทย์ฉุกเฉินจะต้องรู้ว่าจะต้องเตรียมเครื่องมือในการค้นหา อย่างไร ส่วนความเสี่ยงเรื่องภัยพิบัติของประเทศไทยคือ 1.รูปแบบของลมที่จะรุนแรงขึ้น 2.รูปแบบของฝนที่มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณน้ำเพิ่มมากขึ้น ร้อยละ 30 ปริมาณที่มากขึ้นนี้จะส่งผลให้เกิดการถ่ายน้ำทิ้งลงทะเล โดยไม่มีการกักเก็บก็จะส่งผลให้เกิดภัยแล้ง และ 3.สิ่งที่น่าเป็นกังวลที่สุดคือเรื่องรอยเลื่อนที่มีอยู่ในประเทศไทยทั้งหมด 13 รอยเลื่อน ซึ่งรอยเลื่อนที่น่าเป็นกังวลมากที่สุด คือรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ และรอยเลื่อนแม่เมาะ ที่ในช่วง 2 ถึง 3 เดือน ที่ผ่านมา มีการเคลื่อนไหวผิดปกติ จังหวัดที่น่าเป็นห่วงที่อยู่ในบริเวณรอยเลื่อนเหล่านี้คือจ.เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน กาญจนบุรี ขณะที่สิ่งที่น่าเป็น กังวลอีกเรื่องคือภัยอุบัติใหม่ที่เกิดขึ้น เช่น ดินถล่ม จนส่งผลให้เกิดน้ำหลากเข้าสู่ชุมชนและอาจจะได้เห็นน้ำป่าที่หลากเข้ามาสูง 4-5 เมตร
ดร.พิจิตตกล่าวต่อไปว่า สิ่งที่จะต้องรีบทำซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายมีทั้งหมด 4 ข้อ คือ 1.สร้างภูมิคุ้มกันให้คนในสังคมเข้มแข็งในเรื่องของการประเมินความเสี่ยง แต่ละหมู่บ้านจะต้องรู้ว่าตนเองจะมีความเสี่ยงที่จะเกิดภัยพิบัติอะไรบ้างและจะต้องเตรียมการอย่างไร 2. สร้างภูมิคุ้มกันในการช่วยเหลือแบบโต้ตอบเพราะที่ผ่านมาเมื่อเกิดภัยพิบัติ เราไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที จะต้องมีการสร้างชุมชนให้เป็นฐาน สร้างระบบการประสานงานให้เกิดขึ้นโดยเฉพาะเรื่องไฟฟ้า ว่าส่วนไหนควรมีหรือไม่มี 3. สร้างองค์ความรู้ในระบบเตือนภัย ให้เกิดขึ้นกับชุมชนท้องถิ่น ฝึกให้ชาวบ้านคาดการณ์ พยากรณ์อากาศได้ นอกจากนี้ ระบบเตือนภัยก็จะต้องทำให้มีการเข้าถึงอย่างรวดเร็วแม่นยำ เพื่อทำให้ การเตรียมการป้องกันภัยพิบัติเกิดขึ้นอย่างทันท่วงที 4. จะต้องรักษาถนนในการคมนาคมหลักไว้ให้ได้ เพราะเมื่อถนนขาดก็จะไม่สามารถช่วยเหลือใครได้

-------------------------------------------------------------


ดร.พิจิตต ห่วง 13 รอยเลื่อนแผ่นดินไหว


หนังสือพิมพ์ข่าวสด
ฉบับวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2555

                  ที่โรงแรมสุนีย์แกรนด์ จ.อุบลราชธานี นายพิจิตต รัตตกุล ในฐานะคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน (กพฉ.) และผู้อำนวยการบริหารศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย (ADPC) กล่าวในประชุมวิชาการการแพทย์ฉุกเฉินระดับชาติครั้งที่ 6 มีความตอนหนึ่งว่า เมื่อดูจากสถานการณ์ภัยพิบัติทั่วโลกเชื่อว่าความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิจะยิ่งสูงขึ้น สิ่งที่น่าเป็นกังวลที่สุดคือเรื่องรอยเลื่อนที่มีอยู่ในประเทศไทย ทั้งหมด 13 รอยเลื่อนรอยเลื่อนที่น่าเป็นกังวลมากที่สุดคือ รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์และรอยเลื่อนแม่เมาะที่ในช่วง 2 ถึง 3 เดือนที่ผ่านมีการเคลื่อนไหวผิดปกติโดย จว.ที่น่าเป็นห่วงที่อยู่ในบริเวณรอยเลื่อนเหล่านี้คือเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน กาญจนบุรี
นายพิจิตตกล่าวว่า สิ่งที่น่าเป็นกังวลอีกเรื่องคือ ภัยอุบัติใหม่ที่เกิดขึ้น เช่น ดินถล่ม จนส่งผลให้เกิดน้ำหลากเข้าสู่ชุมชนและอาจจะได้เห็นน้ำป่าที่หลากเข้ามาสูง 4-5 เมตร หรือปัญหาเรื่องวินด์เสิร์จ(windsurge) ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่เกิดขึ้นจากลม ซึ่งประสานความรุนแรงกับการกัดเซาะชายฝั่งจากน้ำ จะส่งผลความเสียหายให้เกิดขึ้นกับพื้นที่ชายฝั่งเป็นจำนวนมาก และปัญหาของโรคอุบัติใหม่ที่จะเกิดขึ้นตามมากับปัญหาเหล่านี้ด้วย เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น ปริมาณฝนที่หนาแน่น น้ำทะเลจะหนุนสูง เกิดการเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำ จะเกิดปัญหาการกัดเซาะ การยุบตัวของดิน โดยเฉพาะภาคกลาง สิ่งที่ต้องทำ คือ1.สร้างภูมิคุ้มกันให้คนในสังคม ประเมินความเสี่ยงเตรียมตัวได้ 2.สร้างระบบการช่วยเหลือโดยประสานระบบต่างๆ ที่มีอยู่ ซึ่งที่ผ่านมาเกิดปัญหาในเรื่องการประสานงานมาก3.ต้องสร้างองค์ความรู้ในระบบเตือนภัยให้เกิดขึ้นกับชุมชนท้องถิ่น และ 4.รักษาการคมนาคมไว้เพื่อการลำเลียงความช่วยเหลือ

                                      ------------------------------------------------------------- 





ห่วง13รอยเลื่อนในประเทศไทย 

หนังสือพิมพ์มติชน (กรอบบ่าย) 
ฉบับวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2555
อ่านเพิ่มเติม ๅ

           เมื่อวันที่ 7 มีนาคม ที่โรงแรมแกรนด์สุนีย์แกรนด์ จ.อุบลราชธานี สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) จัดการประชุมวิชาการการแพทย์ฉุกเฉินระดับชาติ ครั้งที่ 6 ขึ้นภายใต้หัวข้อ "การแพทย์ฉุกเฉินไทย ฝ่าภัยพิบัติ 2012" มีการปาฐกถาพิเศษเรื่องความเสี่ยง โอกาส และความท้าทาย ในการจัดการภัยพิบัติของโลกและไทย โดยนายพิจิตตรัตตกุล คณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน (กพฉ.) และผู้อำนวยการบริหารศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย(ADPC) เข้าร่วมเป็นองค์ปาฐก
นายพิจิตตกล่าวว่า ภัยพิบัติเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ดังนั้น สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) จะต้องเตรียมความพร้อมให้สูงขึ้น เพราะหากเทียบเคียงสถิติการเกิดภัยพิบัติระหว่างซีกโลกตะวันตกกับซีกโลกตะวันออกอย่างเอเชียจะมีความรุนแรงแตกต่างกันมาก เช่น ความเร็วของพายุ 170 ไมล์ต่อชั่วโมง ทำลายความเสียหายให้กับซีกโลกตะวันตกได้เพียงนิดเดียว แต่หากเคลื่อนย้ายมาทางซีกโลกตะวันออกแล้ว ความเสียหายมีจำนวนมากขึ้นถึงร้อยละ 84 เราไม่มีความรู้เรื่องการเตรียมพร้อม การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิโลกสูงขึ้นส่งผลให้เกิดปริมาณฝนหนาแน่นฝนจะตกมากขึ้น น้ำทะเลจะหนุนสูงขึ้นเกิดการเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำจนเกิดการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรงและมหาศาล การยุบตัวของดินจะเกิดขึ้นเรื่อยๆ และขยายเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะในส่วนของภาคกลางพื้นแผ่นดินจะกลายเป็นแอ่งลึกลงไป ภาคใต้ต้องเตรียมรับมือกับพายุมีความรุนแรงเหมือนพายุเกย์ พายุลินดา เนื่องจากการเปลี่ยนผ่านของมรสุมจากประเทศฟิลิปปินส์เปลี่ยนทิศทางการเดินทาง นอกจากนั้นแล้วภาคใต้ตอนบนยังต้องเตรียมรับมือกับสตรอมเสิร์จ ภาวะแบบนี้จะลามมายังภาคกลางด้วย
นายพิจิตตกล่าวว่า สิ่งที่น่าเป็นกังวลที่สุดคือ เรื่องรอยเลื่อนที่มีอยู่ในประเทศไทยทั้งหมด 13 รอยเลื่อน น่าเป็นกังวลมากที่สุด ได้แก่ รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ และรอยเลื่อนแม่เมาะ ในช่วง 2 ถึง 3 เดือนที่ผ่าน เคลื่อนไหวผิดปกติ จังหวัดที่น่าเป็นห่วงอยู่ในบริเวณรอยเลื่อนเหล่านี้คือจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอนกาญจนบุรี



วันจันทร์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2555






การประชุมวิชาการการแพทย์ฉุกเฉินระดับชาติ (EMS FORUM) ครั้งที่ 6 ประจำปี 2555









สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น
วันที่ 7 มีนาคม 2555
อ่านต่อที่    http://www.innnews.co.th/shownews/show?newscode=364028      

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  เปิดประชุมวิชาการแพทย์ฉุกเฉินระดับชาติ ครั้งที่ 6 มุ่งเตรียมบุคลากรพร้อมเผชิญภัยพิบัติ
          โรงแรมสุนีย์แกรนด์ โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ จ.อุบลราชธานี วันนี้ นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีเปิดงานจัดประชุมวิชาการแพทย์ฉุกเฉินระดับชาติประจำปี 2555 ครั้งที่ 6 หัวข้อสัมมนาเรื่อง การแพทย์ฉุกเฉินไทย ฝ่าภัยพิบัติ 2012 ระหว่างวันที่ 7 - 9 มี.ค. ณ โรงแรมสุนีย์แกรนด์ โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ จ.อุบลราชธานี วัตถุประสงค์ในการประชุมสัมมนาวิชาการครั้งนี้ เพื่อเป็นการพัฒนาความรู้ทางด้านการแพทย์ฉุกเฉิน และเป็นเวทีระดับชาติ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ปฏิบัติงานทุกระดับในระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ผู้ประชุมประกอบไปด้วย นายแพทย์ ผู้บริหารและเครือข่ายเกี่ยวข้องจากทั่วประเทศ ได้พบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และเผยแพร่ด้านผลงานด้านวิชาการแพทย์ดีเด่นประจำปี รวมทั้งเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ภัยพิบัติ ที่มีแนวโน้มเกิดขึ้นได้บ่อย และกระตุ้นให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ตระหนักถึงความจำเป็นของการพัฒนาระบบแพทย์ฉุกเฉินไทย เพื่อเตรียมพร้อมเผชิญภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต


-------------------------------------------------



หนังสือพิมพ์บ้านเมือง
วันที่ 7 มีนาคม 2555
อ่านฉบับเต็มที่



การแพทย์ฉุกเฉินไทย ฝ่าภัยพิบัติ 2012
สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) จัดการประชุมวิชาการการแพทย์ฉุกเฉินระดับชาติครั้งที่ 6 (EMS FORUM) ขึ้นภายใต้หัวข้อ “การแพทย์ฉุกเฉินไทย ฝ่าภัยพิบัติ 2012″ โดยมีนายวิทยา บุรณศิริ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการแพทย์ฉุกเฉิน (กพฉ.) เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วย นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ชาตรี เจริญชีวะกุล เลขาธิการ สพฉ. และผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข

นายวิทยา กล่าวว่า การประชุมวิชาการครั้งนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 6 ซึ่งสพฉ.ร่วมกับ จ.อุบลราชธานี เป็นเจ้าภาพการจัดงาน โดยจากประเด็นหลักของการประชุม เป็นเรื่องภัยพิบัติที่กำลังอยู่ในความสนใจ และสังคมกำลังตื่นตัว ดังนั้นในด้านการแพทย์ฉุกเฉิน จึงน่าจะใช้โอกาสนี้ ร่วมผลักดันและเร่งพัฒนา โดยเป้าหมายของการพัฒนาด้านการแพทย์ฉุกเฉินคือ การป้องกันภาวะการเจ็บป่วยฉุกเฉินให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด โดยประชาชนต้องเข้าถึงการบริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ตามนโยบาย 3 เร็ว 2 ดี คือ โทรแจ้งเหตุเร็ว ชุดปฏิบัติการออกไปรับผู้ป่วยฉุกเฉินเร็วและนำส่งรักษาต่อยังโรงพยาบาลเร็ว ทั้งในสภาวะปกติ และในสภาวะภัยพิบัติ

นายวิทยา กล่าวต่อว่า ทุกวันนี้มีหลายเหตุการณ์เกิดขึ้น ทั้งสึนามิ ดินโคลนถล่ม อุทกภัย รวมถึงปัญหาหมอกควันในภาคเหนือที่กำลังเกิดขึ้น ล้วนแต่เป็นเรื่องท้าทายมากสำหรับงานด้านการแพทย์ฉุกเฉิน ซึ่งตนเชื่อมั่นในความสามารถ ในขณะเดียวกันนายกรัฐมนตรีก็เห็นถึงความสำคัญของงานและพร้อมสนับสนุนผลักดัน โดยภายหลังแผนหลักการแพทย์ฉุกเฉินปี 2553-2555 ก็ได้เพิ่มการเตรียมความพร้อมในการตอบโต้กับเหตุการณ์ต่างๆ ไว้ด้วย นอกจากนี้ผลการดำเนินงานของการแพทย์ฉุกเฉินในปัจจุบันก็ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าเรามีองค์ประกอบหลายอย่างที่เป็นตัวบ่งชี้ให้เห็นชัดว่าเราจะก้าวผ่านเหตุการณ์ต่างๆไปได้ สำหรับการประเมินและการสรุปผลการปฏิบัติงานของการแพทย์ฉุกเฉินซึ่งผลออกมาก็เป็นที่น่าพอใจ โดยสามารถให้บริการผู้ป่วยฉุกเฉิน ทั้งสิ้น 1.47 ล้านราย ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2554 ถึง 21% และในช่วงมหาอุทกภัย ระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินได้ทำหน้าที่ช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินได้อย่างเต็มที่ จำนวน 2,096 ราย ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศยาน ดังนั้นการประชุมวิชาการครั้งนี้ จึงหวังว่าจะมีการเตรียมพร้อมและพัฒนา เพื่อหาแนวทางการตอบโต้และรับมือกับภัยภิบัติให้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะที่จ.อุบลราชธานี ที่รับเป็นเจ้าภาพ เป็นจังหวัดที่โดดเด่น และเป็นต้นแบบของการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินอีกด้วย

ขณะที่ นพ.ชาตรี กล่าวว่า การประชุมวิชาการนี้ สพฉ.ได้จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี โดยหมุนเวียนให้แต่ละจังหวัดรับเป็นเจ้าภาพในการจัดงาน เพื่อให้แต่ละจังหวัด หรือแต่ละภูมิภาค ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนรูปแบบของระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน หรือนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อร่วมกับพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินต่อไป

สำหรับหัวข้อการประชุมวิชาการที่น่าสนใจ อาทิ นวัตกรรมการแพทย์ฉุกเฉิน เรื่องใหม่ๆ ด้านการแพทย์ฉุกเฉิน การพัฒนาผู้ปฏิบัติการ ระบบรับแจ้งเหตุและสั่งการ การเตรียมพร้อมของโรงพยาบาลในภาวะภัยพิบัติ ระบบบัญชาการในเหตุการณ์ภัยพิบัติ การเตรียมพร้อมโรงพยาบาลหรือศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการเมื่อเกิดภัยพิบัติ นอกจากนี้ยังมีเวทีนำเสนอผลงานทางวิชาการ และนวัตกรรมด้านการแพทย์ฉุกเฉิน ซึ่งมีผู้ผ่านการคัดเลือกจำนวน 54 ผลงาน และนิทรรศการผลงานดีเด่นจำนวน 15 แห่ง การประกวดผลงานการแพทย์ฉุกเฉินดีเด่นระดับเขตและระดับประเทศจำนวน 101 รางวัล เพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาต่อไปด้วย

พร้อมกันนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบรางวัลให้กับเขตตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข และจังหวัดที่มีผลงานด้านการแพทย์ฉุกเฉินดีเด่น คือ เขตตรวจราชการที่ 10 (จ.อุดรธานี จ.หนองบัวลำภู จ.หนองคาย จ.เลย จ.บึงกาฬ) เขตตรวจราชการที่ 3 (จ.ฉะเชิงเทรา จ.สมุทรปราการ จ.นครนายก จ.สระแก้ว จ.ปราจีนบุรี) เขตตรวจราชการที่ 16 (จ.เชียงราย จ.น่าน จ.พะเยา จ.แพร่) เขตตรวจราชการที่ 12 (จ.ขอนแก่น จ.มหาสารคาม จ.ร้อยเอ็ด จ.กาฬสินธ์) และเขตตรวจราชการที่ 2 (จ.ลพบุรี จ.ชัยนาท จ.สิงห์บุรี จ.อ่างทอง) และรางวัลชุดปฏิบัติการดีเด่นทั้งในระดับชุดปฏิบัติการฉุกเฉินระดับสูง (ALS) ชุดปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินระดับต้น (BLS) และชุดปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินเบื้องต้น (FR) จากนั้นได้มอบรางวัลการแข่งขัน EMS RALLY ประจำปี 2555 และมอบเข็มเชิดชูเกียรติให้ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อระบบการแพทย์ฉุกเฉินจำนวน 382 คน เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กับผู้ปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉิน ที่เป็นผู้เสียสละและมีจิตใจที่อาสาช่วยเหลือสังคม
-------------------------------------------------



วันอาทิตย์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555




มอบเงินบุรุษพยาบาลถูกยิงกว่า1.3ลบ.


สำนักข่าว INN



มอบเงินบุรุษพยาบาลถูกยิงกว่า1.3ลบ.
ข่าวภูมิภาค วันเสาร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2555 8:54น.


กระทรวงสาธารณสุข เตรียมเสนอเลื่อนขั้นบุรุษพยาบล เบื้องต้นได้รับเงินช่วยเหลือกว่า 1 ล้าน 3 แสนบาท จากเงินฌาปกิจ เงินประกันชีวิจกับสพฉ. เงินช่วยเหลือสธ.
ความคืบหน้ากรณีที่ นายนิพนธ์ มนตรี อายุ 22 ปี บุรุษพยาบาล โรงพยาบาลเขาฉกรรจ์ จ.สระแก้ว ถูก นายวีระ วางจังหรีด อายุ 26 ปี ชาว จ.สระแก้ว ใช้อาวุธปืน ยิงเสียชีวิตในห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาล ขณะปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากไม่พอใจ นายนิพนธ์ ผู้ตาย ซักประวัติของ นางวาสนา เทพเทียร อายุ 25 ปี ภรรยา ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุทะเลาะวิวาท และนายวีระ ได้พาภรรยา มารักษาตัวที่โรงพยาบาล หลังจากนั้น นายวีระ ยิงผู้อื่นเสียชีวิตอีก 4 ราย ล่าสุด น.พ.ธวัชชัย กมลธรรม ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ได้เข้าร่วมงานศพของ นายนิพนธ์ ที่วัดหนองหว้า อ.เขาฉกรรจ์ โดยในเบื้องต้น กระทรวงสาธารณสุข ได้มอบเงินช่วยเหลือครอบครัวของเจ้าหน้าที่ ที่เสียชีวิตส่วนหนึ่ง และกำลังทำเรื่องขอปูนบำเหน็จเลื่อนเงินเดือนให้ 5 ขั้น เป็นกรณีพิเศษ และในเบื้องต้นสิทธิประโยชน์ของนายนิพล ที่จะได้รับ อาทิ เงินช่วยพิเศษในกรณีข้าราชการถึงแก่ความตายในระหว่างรับราชการ จำนวน 3 เท่าของเงินเดือน บำเหน็จตกทอด เหตุผิดธรรมชาติ อุบัติเหตุ กระทำ หรือ ถูกกระทำถึงแก่ความตาย ซึ่งได้เกิดจากการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ประกันชีวิตกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เงินช่วยเหลือเพื่อการชดเชย กรณีผู้ให้บริการได้รับความเสียหายจากการให้บริการสาธารณสุข เงินณาปณกิจสงเคราะห์กระทรวงสาธารณสุข รวมเป็นเงินช่วยเหลือเบื้องต้น ประมาณ กว่า 1ล้าน 3 แสนบาท

กระจายกำลังติดตามคนร้ายก่อคดีฆ่า 5 ศพ ขณะที่ สธ. สพฉ. มอบเงินช่วยครอบครัวบุรุษพยาบาล
วันเสาร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2555 

น.พ.ธวัชชัย กมลธรรม ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย น.พ.อัษฎางค์ รวยอาจิณ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว ได้เดินทางมายังโรงพยาบาลเขาฉกรรจ์เพื่อสอบถามเหตุการณ์และให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานอยู่ ซึ่งกำลังเสียขวัญผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขได้เดินทางมาเป็นประธานในพิธีรดน้ำศพนายนิพล มนตรี พยาบาลวิชาชีพ ที่วัดหนองหว้า อ.เขาฉกรรจ์ ซึ่งบรรยากาศภายในวัดเต็มไปด้วยความโศกเศร้ามีผู้บริหารสาธารณสุขในพื้นที่ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล สาธารณสุขอำเภอ และเพื่อนร่วมงานจากในจังหวัด และประชาชนที่ทราบข่าวพากันมาร่วมรดน้ำศพเป็นจำนวนมาก
          น.พ.ธวัชชัย เปิดเผยว่า ในเบื้องต้นนี้กระทรวงสาธารณสุขได้มอบเงินช่วยเหลือครอบครัวของเจ้าหน้าที่ที่เสียชีวิตส่วนหนึ่ง และกำลังทำเรื่องขอปูนบำเหน็จเลื่อนเงินเดือนให้ 5 ขั้น เป็นกรณีพิเศษ ในเบื้องต้นสิทธิประโยชน์ของนายนิพล มนตรี ที่จะได้ ได้แก่ 1) เงินช่วยพิเศษในกรณีข้าราชการถึงแก่ความตายในระหว่างรับราชการ ตามมาตรา 23  ตาม พรฎ.การจ่ายเงินเดือนเงินปี บำเหน็จ บำนาญ และเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน พ.ศ.2535 จำนวน 3 เท่าของเงินเดือน เป็นเงิน 51,270 บาท
          2) บำเหน็จตกทอด เหตุผิดธรรมชาติ อุบัติเหตุ กระทำหรือถูกกระทำถึงแก่ความตาย ซึ่งได้เกิดจากการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตาม พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญ จำนวนเท่ากับเงินเดือนเดือนสุดท้ายคูณด้วยเวลาราชการ เป็นเงิน 124,415 บาท 3) ประกันชีวิตกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) จำนวน 200,000 บาท 4) เงินช่วยเหลือเพื่อการชดเชยกรณีผู้ให้บริการได้รับความเสียหายจากการให้บริการสาธารณสุข ไม่เกิน 200,000 บาท 5) เงินณาปณกิจสงเคราะห์กระทรวงสาธารณสุข 600,000 บาท
          6) บำเหน็จความชอบเป็นกรณีพิเศษ เพื่อเลื่อนขั้นอัตราเงินเดือนได้ไม่เกิน 5 ขั้น  7) กำลังดำเนินการเสนอขอเหรียญเชิดชูเกียรติ จากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ 8) เงินประกันชีวิตจากสหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขสระแก้วจำกัด จำนวน 100,000 บาท และ 9)เงินประกันชีวิตจากบัตรทองธนาคารกรุงไทยจำกัด (มหาชน) อีก 100,000 บาท รวมเป็นเงินช่วยเหลือเบื้องต้นประมาณ 1,375,685 บาท
          นายนิพล มนตรี เจ้าหน้าที่พยาบาลที่ถูกยิงเสียชีวิตอายุ 32 ปี ปฏิบัติรับราชการที่โรงพยาบาลเขาฉกรรจ์มาเป็นเวลา 9 ปี 10 เดือน ขณะนี้ดำรงตำแหน่งเป็นพยาบาลวิชาชีพชำนาญการประจำห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาล เป็นผู้ที่มีความสามารถสูง ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบงานระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินของโรงพยาบาลเขาฉกรรจ์ ซึ่งได้ปฏิบัติงานเป็นอย่างดี เคยได้รับรางวัลรองชนะเลิศการพัฒนางานระบบการแพทย์ฉุกเฉินระดับเขตที่จังหวัดอุดรธานี เมื่อ พ.ศ.2553




ปูนบำเหน็จเลื่อนเงินเดือน 6 ขั้นบุรุษพยาบาล รพ.เขาฉกรรจ์
วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2555 

รมว.สธ.สั่งดูแลความปลอดภัยโรงพยาบาลทุกแห่งเข้มงวด ปูนบำเหน็จเลื่อนเงินเดือน 6 ขั้น ให้บุรุษพยาบาล รพ.เขาฉกรรจ์ สระแก้ว หลังถูกยิงเสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่...เมื่อวันที่ 23 ก.พ. นายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข ได้สั่งผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขลงพื้นที่ติดตามคดีคนร้ายยิงบุรุษพยาบาลประจำห้องฉุกเฉินของ รพ.เขาฉกรรจ์ จ.สระแก้ว เสียชีวิต ขณะปฏิบัติหน้าที่ดูแลผู้บาดเจ็บ พร้อมให้การช่วยเหลือครอบครัว และทำเรื่องขอปูนบำเหน็จเลื่อนเงินเดือน 6 ขั้นเป็นกรณีพิเศษ และเยียวยาจิตใจเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล ซึ่งเสียขวัญกำลังใจอย่างมาก โดยสั่งการให้โรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศเข้มงวดด้านความปลอดภัย
          จากกรณีที่มีเหตุคนร้ายก่อเหตุยิง นายนิพล มนตรี อายุ 32 ปี บุรุษพยาบาลประจำแผนกอุบัติเหตุฉุกเฉินของ รพ.เขาฉกรรจ์ อ.เขาฉกรรจ์ จ.สระแก้ว เสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ดูแลช่วยเหลือผู้บาดเจ็บที่ถูกทำร้ายร่างกาย เหตุเกิดเมื่อเวลาประมาณ 02.30 น. วันที่ 23 ก.พ. 2555 ที่ผ่านมา
          ความคืบหน้าในเรื่องดังกล่าว นายวิทยา ให้สัมภาษณ์ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องที่คาดไม่ถึงว่าคนร้ายจะมีพฤติกรรมรุนแรงเช่นนี้ได้ ก่อให้เกิดความสะเทือนขวัญแก่เจ้าหน้าที่ของ รพ.เขาฉกรรจ์ เป็นอย่างมาก ทำให้เสียขวัญและกำลังใจ เนื่องจากสระแก้วเป็นจังหวัดชายแดนทุรกันดาร ที่ประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากรมาโดยตลอด ผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ขณะนี้จัดว่าเป็นผู้เสียสละ มีความตั้งใจในการทำงานดูแลประชาชนอย่างเต็มที่ในเบื้องต้นนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้มอบเงินช่วยเหลือครอบครัวของเจ้าหน้าที่ที่เสียชีวิตส่วนหนึ่ง และกำลังทำเรื่องขอปูนบำเหน็จเลื่อนเงินเดือนให้ 6 ขั้นเป็นกรณีพิเศษ พร้อมสั่งการให้ นพ.ธวัชชัย กมลธรรม ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข และเจ้าหน้าที่นิติกร ลงพื้นที่ติดตามสอบสวนและประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ให้ดำเนินคดีกับคนร้ายรายนี้ให้เร็วที่สุดและถึงที่สุด ขณะเดียวกัน ให้ปลอบขวัญกำลังใจของเจ้าหน้าที่ใน รพ.เขาฉกรรจ์ ให้กลับคืนสู่ภาวะปกติโดยเร็ว
          นายวิทยา กล่าวต่อไปว่า ได้กำชับให้ผู้บริหารโรงพยาบาลในสังกัดทุกระดับทั่วประเทศ ขอให้เพิ่มมาตรการดูแลระมัดระวังความปลอดภัยในโรงพยาบาลอย่างเข้มงวด เพื่อให้ทั้งเจ้าหน้าที่และประชาชนที่เจ็บป่วย รวมทั้งผู้ที่มาใช้บริการเกิดความมั่นใจตลอด 24 ชั่วโมง
          ด้าน นพ.ธวัชชัย กล่าวว่า นายนิพล มนตรี เจ้าหน้าที่พยาบาลที่ถูกยิงเสียชีวิต อายุ 32 ปี รับราชการที่ รพ.เขาฉกรรจ์ มาเป็นเวลา 9 ปี 10 เดือน ขณะนี้ ดำรงตำแหน่งเป็นพยาบาลวิชาชีพชำนาญการประจำห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาล เป็นผู้ที่มีความสามารถสูง ได้รับรางวัลรองชนะเลิศการพัฒนางานระบบการแพทย์ฉุกเฉินระดับเขตที่ จ.อุดรธานี ในงานสรุปผลผู้ตรวจราชการเขต 3 เมื่อปี 2553 และเป็นคนที่ได้รับราชการเพียงคนเดียวของครอบครัว ซึ่งมีพี่น้องทั้งหมด 6 คน สำหรับการช่วยเหลือครอบครัวผู้เสียชีวิตจะได้รับเงินประกันชีวิตจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ 200,000 บาท เงินจากมาตรา 41 ของพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 200,000 บาท และเงินฌาปนกิจสงเคราะห์ของกระทรวงสาธารณสุขอีก 600,000 บาท โดยได้ประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ดูแลความปลอดภัยที่ รพ.เขาฉกรรจ์ อย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง.









สพฉ.จัดแข่ง EMS RALLY เตรียมพร้อมพัฒนาผู้ปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินมีมาตรฐาน ตื่นตัว   เขต 10 คว้าชัยกู้ชีพระดับสูง-เบื้องต้น พร้อมผลักดันการแข่งขันสู่ระดับนานาชาติ  


สถานีโทรทัศน์ Thai PBS





สถานีโทรทัศน์ อสมท.


วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2555 สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) จัดการแข่งขันการแพทย์ฉุกเฉิน Emergency Medical Services RALLY “EMS RALLY”  ระดับประเทศ ครั้งที่ 2 ปฏิบัติการพัฒนาทักษะของบุคลากรด้านการแพทย์ฉุกเฉิน ที่สนามกีฬากระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี โดยมี          นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการแข่งขัน  พร้อมด้วย นพ.ชาตรี เจริญชีวะกุล เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ และผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข 
นพ.ไพจิตร์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาสถานการณ์เจ็บป่วยฉุกเฉิน อุบัติเหตุ หรือแม้แต่ภัยธรรมชาติ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้โดยไม่คาดคิด โดยเฉพาะอุบัติเหตุหมู่ในระยะหลังเกิดขึ้นถี่มาก ดังนั้นผู้ปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินที่เป็นกำลังหลักในการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน จึงจำเป็นต้องตื่นตัวและเตรียมพร้อมอยู่ตลอดเวลา โดยการแข่งขัน EMS RALLY ก็ถือเป็นหนึ่งในการเตรียมความพร้อมที่ดี และเป็นการพัฒนาการช่วยเหลือ ณ จุดเกิดเหตุให้ได้รับการช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว ถูกต้องตามหลักวิชาการ ซึ่งจะทำให้โอกาสรอดชีวิตและเกิดอาการเจ็บป่วยฉุกเฉิน หรือความบกพร่องของร่างกายที่ไม่จำเป็นลดลงด้วย
การฝึกปฏิบัติการกู้ชีพจะนำไปสู่การปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินที่มีคุณภาพ ทำให้ทีมกู้ชีพได้เรียนรู้ในการออกปฏิบัติการท่ามกลางสภาวะการกดดัน ทุกรูปแบบ โดยจะมีโจทย์ และสถานการณ์สมมุติให้ทีมกู้ชีพได้ฝึกแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน อาทิ อุบัติเหตุ สาธารณภัย เจ็บท้องคลอด   ไฟไหม้ สารเคมีรั่วไหล เป็นต้น ซึ่งการแข่งขันนี้จะทำให้ผู้ปฏิบัติงานที่มีภาระหน้าที่สำคัญที่ต้องรับผิดชอบชีวิตผู้ป่วยให้มีความชำนาญมากยิ่งขึ้น รวมทั้งการฝึกซ้อมอย่างสม่ำเสมอจะเป็นการเพิ่มพูนความรู้ พัฒนาคุณภาพและยกระดับเรื่องการกู้ชีพของประเทศไทย” นพ.ไพจิตร์ กล่าว
การจัดการแข่งขัน EMS RALLY จะแบ่งการแข่งขันเป็น 2 ระดับ คือ ชุดปฏิบัติการฉุกเฉินระดับสูง (ALS) และชุดปฏิบัติการฉุกเฉินเบื้องต้น (FR) จากทีมที่ชนะเลิศจากเขตต่างๆ ทั่วประเทศ 18 เขต และจากกรุงเทพมหานคร 2 ทีม รวม 20 ทีม แบ่งเป็น 20 ฐาน ฐานละ 15 นาที ซึ่งการกำหนดเวลาก็เพื่อให้ผู้ปฏิบัติการตระหนักถึงการทำงานที่มีคุณภาพแข่งกับเวลา เพราะในสถานการณ์จริง ความผิดพลาดแม้แต่นาทีเดียวก็ไม่ควรเกิดขึ้น  ทั้งนี้สำหรับทีมที่ชนะเลิศจะเป็นตัวแทนไปแข่งขัน EMS RALLY ระดับนานาชาติที่จะจัดขึ้นในช่วงปลายปี 2555 ต่อไป
ด้าน นพ.ชาตรี เจริญชีวะกุล เลขาธิการ สพฉ. กล่าวว่า การฝึกปฏิบัติเพื่อพัฒนาทักษะของบุคลากรด้านการแพทย์ฉุกเฉิน ถือว่ามีความสำคัญมาก นอกจากจะพัฒนาเรื่องความชำนาญแล้ว     ยังเป็นการทบทวนความรู้ทางวิชาการด้วย และหากนำมาฝึกปฏิบัติให้สอดคล้องกับนโยบาย 3 เร็ว 2 ดี คือแจ้งเหตุเร็ว ชุดปฏิบัติการไปถึงที่เกิดเหตุได้รวดเร็ว ภายในเวลา 10 นาที และนำผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาลเร็ว แพทย์สามารถให้การรักษาเร็ว สำหรับ 2 ดี คือคุณภาพการให้บริการทั้งในและนอกโรงพยาบาลดี ทั้งในภาวะปกติและภาวะที่เกิดภัยพิบัติฉุกเฉิน ก็จะเป็นการตอกย้ำการพัฒนา และทำให้การบริการผู้ป่วยฉุกเฉินมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น
“ที่ผ่านมายังมีผู้ป่วยฉุกเฉินที่เสียชีวิตก่อนนำส่งโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น หรือเสียชีวิต ณ จุดเกิดเหตุ อยู่จำนวนหนึ่ง ดังนั้นหากมีการพัฒนาการช่วยเหลือให้มีความรวดเร็ว และมีมาตรฐาน ถูกต้อง มากขึ้นเท่าใด ก็จะทำให้อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยฉุกเฉินลดลงด้วย ขณะเดียวกันจะเป็นการสร้างมาตรฐาน และความเชื่อมั่นมากขึ้นด้วย” นพ.ชาตรีกล่าว
สำหรับผลการปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินในไตรมาสแรกนั้น มีการออกปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉิน 288,544 ครั้ง แบ่งเป็นการช่วยเหลือระดับ ALS (ชุดปฎิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินระดับสูง) 40,191 ครั้ง การช่วยเหลือระดับ ILS (ชุดปฎิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินระดับกลาง) 9,379 ครั้ง การช่วยเหลือระดับ BLS (ชุดปฎิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินระดับต้น) 51,893 ครั้ง และการช่วยเหลือระดับ FR (ชุดปฎิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินเบื้องต้น 186,817 ครั้ง โดยสามารถให้ความช่วยเหลือได้รวดเร็วภายใน 10 นาที ร้อยละ 75.5 ซึ่งถือว่าตรงตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ อย่างไรก็ตาม สพฉ. ก็จะมุ่งมั่นและพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินให้ดียิ่งขึ้นต่อไป เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยฉุกเฉินเป็นสำคัญ
ทั้งนี้ผลการแข่งขัน ที่แข่งกันยาวนานแบบไม่มีพักกว่า 5 ชั่วโมง ทีมที่ชนะเลิศการแข่งขัน EMS RALLY ระดับประเทศครั้งที่ 2 ประจำปี 2555 ในชุดปฏิบัติการฉุกเฉินระดับสูง (ALS) คือเขต 10 ตัวแทนจาก จ.เลย รองชนะเลิศอันดับหนึ่ง คือ เขต 12 ตัวแทนจาก  จ.ขอนแก่น และรองชนะเลิศอันดับสอง คือ เขต 16 ตัวแทนจาก จ.เชียงราย
              ส่วนในชุดปฏิบัติการฉุกเฉินเบื้องต้น (FR) ทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ เขต 10 ตัวแทนจาก จ.เลย รองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ได้แก่ เขต 12 ตัวแทนจาก จ.ขอนแก่น และรองชนะเลิศอันดับสองได้แก่ ทีมจากเขต 14 ตัวแทนจาก จ.สุรินทร์




หนังสือพิมพ์มติชน

          
สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(สพฉ.) จัดการแข่งขันการแพทย์ฉุกเฉิน Emergency Medical Services RALLY "EMS RALLY" ระดับประเทศครั้งที่ 2 ประจำปี 2555 เพื่อปฏิบัติการพัฒนาทักษะของบุคลากรด้านการแพทย์ฉุกเฉิน ที่สนามกีฬากระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี โดยมี นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการแข่งขัน พร้อมด้วยนพ.ชาตรี เจริญชีวะกุล เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ และผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เมื่อเร็วๆ นี้


วันอังคารที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555





ถอดบทเรียนมหาอุทกภัย 2554 มองสู่อนาคต: 
เตือน(เป็น)ภัย และการกู้ชีพฉุกเฉิน


หนังสือพิมพ์ เดลินิวส์  ฉบับวันที่ 26 มกราคม 2555


วีระพันธ์ โตมีบุญ / นวพรรษ บุญชาญ รายงาน

          ในมหาอุทกภัยปี 2554 มีสิ่งที่สร้างความสับสนกับประชาชนอย่างมากประการหนึ่ง นอกเหนือจากความอ่อนด้อยประสิทธิภาพอื่น อีกประดามี ก็คือ การแจ้งเตือนภัย หรือการสื่อสารในภาวะวิกฤติเพื่อการเตรียมตัว หรือหลบหลีกภัย
          ตัวอย่างของการแจ้งข่าวเตือนภัยที่สะท้อนถึงปัญหาของระบบงาน ก็คือการที่รัฐมนตรีผู้ปฏิบัติงานในศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัย (ศปภ.) ออกข่าวผ่านรายการโทรทัศน์ เวลา 18.45 น. วันที่ 13 ต.ค. 54  ว่า ประตูน้ำคลองบ้านพร้าว จ.ปทุมธานี แตกไม่สามารถกั้นน้ำได้ น้ำจากแม่น้ำเจ้า พระยาจะเข้ามาทางตอนเหนือของ กทม.ขอให้ประชาชน หมู่บ้านไวท์เฮ้าส์ หมู่บ้านรัตนโกสินทร์ อ.คลองหลวง  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต สถาบันเอไอที รังสิตตอนบน ลำลูกกา สายไหม ดอนเมืองตอนบน เหนือถนนรังสิต-ปทุมธานี เก็บของขึ้นที่สูง หรือบนชั้น 2 ให้นำรถยนต์เข้ามาที่สนามบินดอนเมือง ผู้ที่มีบ้านชั้นเดียวให้อพยพมาที่สนามบินดอนเมือง ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป โดยระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ 50 ซม.-1 เมตร
          แต่หลังจากนั้น เวลา 19.30 น. ศปภ.ก็แถลงข่าวอีกครั้งว่า คุมสถานการณ์ได้แล้ว
          ซึ่งถ้าคุมได้จริง ก็เก่งเหลือเชื่อ  แต่ถ้าถามคนที่ทำงานอยู่แถวประตูระบายน้ำจะทราบไม่ได้มีเหตุถึงขั้นวิกฤติแต่อย่างใด
          ถัดมาอีก 10 วัน วันที่ 23 ต.ค. บนหน้าเฟซบุ๊กของ "ศปภ.ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัย" ก็มีประกาศข้อความ "ศปภ.ประกาศเตือนประชาชนในพื้นที่ กทม.ทั้งหมดเก็บของขึ้นสูงในระดับ 1 เมตร เนื่องจากประตูน้ำเปิดหมดแล้ว ในคืนนี้ระดับน้ำจะขึ้นสูงสุดเวลา 21.00 น." สร้างความตื่นตระหนกแก่ผู้เห็นข่าวสาร มีการส่งต่อกันจำนวนมาก แต่ต่อมา พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ โฆษก ศปภ.ต้องออกมาชี้แจงว่าไม่เป็นความจริงและลบข้อมูลดังกล่าวออกไปแล้ว
          เมื่อพิจารณาการเตือนภัยของ ศปภ. ในช่วงอุทกภัย พบว่า การจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการ ได้ดึงเอาตัวแทนหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาอยู่ในสังกัดทั้งหมด รวมทั้งศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แต่การแจ้งข่าวทำโดยทีมโฆษกเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมีความสับสน ขาดความชัดเจน เป็นที่สงสัยว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์การเตือนภัยหรือไม่
          อย่างไรก็ตาม มหาอุทกภัยครั้งนี้ แตกต่างจากครั้งอื่น ๆ ตรงที่มีสื่อมวลชนทุกแขนง จากทุกสำนักกระจายลงสู่พื้นที่ต่าง ๆ และนำเสนอข้อมูลจากพื้นที่อย่างรวดเร็วฉับไว มีการแข่งขันของสื่อในการแสวงหาข้อมูล ด้วยวิธีประเมินจากนักวิชาการหรือภาคเอกชน เพราะขาดข้อมูลที่ชัดเจนจากฝ่ายรัฐ ส่งผลให้ประชาชนได้รับข่าวสาร เชิงการวิเคราะห์คาดการณ์ที่บางครั้งก็เกินความจริง โดยเฉพาะการคาดการณ์ทิศทางของน้ำที่จะหลากไปถึง
          โดยทั่วไป การเตือนภัย ต้องประกอบด้วยระบบและเครื่องมือตรวจสอบว่ามีภัยเกิดขึ้น และอาจเป็นอันตรายกับประชาชนที่จุดใด หรือไม่ เมื่อใด จนทราบแน่ชัด จึงแจ้งข่าวเตือนภัยให้กับกลุ่มเสี่ยงได้ทราบ เพื่อการป้องกันหรือหลบหลีก
          การเตือนภัย ต้องทำโดยหน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรง มีขั้นตอนการทำงานที่เป็นระบบ มิใช่ใครก็ออกข่าวได้ รวมถึงสื่อมวลชนก็ไม่ใช่ผู้มีบทบาทในการวิเคราะห์ คาดการณ์เพื่อเตือนภัย
          ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ มีขั้นตอนการปฏิบัติงานเตือนภัยที่เป็นระบบ เริ่มจากการรับข้อมูล ข่าวสาร จากส่วนต่าง ๆ จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการวิเคราะห์และตัดสินใจว่าถึงขั้นต้องประกาศเตือนภัยกับใคร อย่างไร  ขั้นต่อไปคือการกระจายข้อมูลและข่าวสาร ซึ่งมีทั้งหน่วยราชการส่วนกลาง หน่วยราชการส่วนท้องถิ่น  หน่วยงานบรรเทาสาธารณภัย ประชาชนและ สถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ
          ภายในศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ มีความพร้อมถึงระดับที่มีห้องออกอากาศรายการโทรทัศน์ ที่พร้อมดำเนินการทันทีที่มีคำสั่งให้ปฏิบัติการ
          ในการกระจายข้อมูล ข่าวสารนั้น  ศูนย์เตือนภัย ก็มีเกณฑ์ ดำเนินการ 4 ขั้นตอน ได้แก่ 1. การรายงาน 2. การเฝ้าระวัง 3. การเตือนภัย 4. ยกเลิก
          ทั้ง 4 ประการ มีรายละเอียดการปฏิบัติที่ชัดเจน เช่น เกณฑ์การรายงาน จะต้องตรวจสอบว่าเกิดภัยธรรมชาติที่คาดว่าจะมีผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน โดยเป็นข้อมูลที่ละเอียด พร้อมคำแนะนำการปฏิบัติ คำแนะนำในการช่วยเหลือกู้ภัย ให้กับผู้บังคับบัญชา หน่วยช่วยเหลือกู้ภัยและประชาชน เกณฑ์เฝ้าระวัง ซึ่งจะทำเมื่อเกิดภัยธรรมชาติ แต่ไม่มีผลกระทบ ต่อชีวิตและทรัพย์สิน ทั้งต้องติดตามและป้องกันการตื่นตระหนกและเข้าใจผิดของประชาชน โดยต้องให้ข้อมูลกับผู้บังคับบัญชาเพื่อชี้แจงกับประชาชน
          ไม่ใช่รู้ข้อมูลเบื้องต้นเพียงเล็กน้อยก็ปล่อยผ่านสื่อทันที
          เกณฑ์เตือนภัย ใช้เมื่อเกิดภัยธรรมชาติที่จะเป็นอันตราย กระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอย่างรุนแรง หรือครอบคลุมพื้นที่กว้างขวาง ซึ่งจะต้องรายงานรายละเอียดของภัย ผลกระทบ เวลาที่คาดว่าจะเกิดภัย ให้คำแนะนำการปฏิบัติเพื่อลดอันตราย ลดความสูญเสีย รวมถึงคำแนะนำในการช่วยเหลือกู้ภัย
          เกณฑ์ยกเลิก เป็นหลักสำคัญอีกอย่างของการเตือนภัย  นำมาใช้เมื่อสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ และตรวจสอบข้อมูลจากทุกแห่งจนแน่ใจ เป็นไปตามเกณฑ์การยกเลิกภัยแต่ละชนิด เพื่อดำเนินการแจ้งให้ทราบว่า มีความปลอดภัยและให้หน่วยช่วยเหลือกู้ภัย ดำเนินการบรรเทาสาธารณภัย
          การยกเลิก เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องมีควบคู่กับการเตือนภัย เพราะถ้าไม่มีเกณฑ์หรือไม่ประกาศยกเลิก ประชาชนหลงเข้าใจผิด เห็นสถานการณ์บางช่วงดีขึ้น แล้วเข้าไปในพื้นที่ ก็อาจเผชิญอันตรายบางอย่างที่คงอยู่และยังไม่ได้จัดการให้เข้าที่เข้าทาง
          น่าสนใจว่า อุทกภัยที่ผ่านมา ไม่มีการประกาศยกเลิกแม้แต่จุดเดียว
          การเตือนภัยในภาวะวิกฤติ ที่จะต้องปรับปรุงครั้งใหญ่ จึงไม่ใช่ซื้อหาเครื่องมือใหม่ แต่ต้องทำให้ ระบบและหน่วยงานเตือนภัยทำหน้าที่เป็นเครื่องมือแนะนำผู้ควบคุม สั่งการ รับมือกับภัย ชี้ไปที่หน่วยปฏิบัติต่าง ๆ ในการเผชิญเหตุและช่วยเหลือประชาชน
          ที่สำคัญ ต้องไม่ตื่นเต้น ตื่นตูม เสียเองนอกเหนือจากการเตือนภัยแล้ว งานกู้ชีพ การแพทย์ฉุกเฉินเป็นสิ่งจำเป็นยิ่งในสถานการณ์วิกฤตินี้ ซึ่ง 2 หน่วยงานหลัก คือ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ หรือ สพฉ.  ที่มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานตลอด 24 ชม. ก็ทำงานกันหนัก อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย  แม้หน่วยงานและสถานบริการสาธารณสุขเองก็มีสภาพไม่ต่างจากที่อื่นจมอยู่ใต้น้ำ จำนวนมากก็ตาม
          สำหรับการปฏิบัติการด้านการรักษาพยาบาล มีการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่  ตั้งโรงพยาบาลสนาม 17 แห่ง ในจังหวัดซึ่งมีน้ำท่วมบริเวณกว้าง และโรงพยาบาลประจำจังหวัดถูกน้ำท่วม เพื่อรักษาผู้ป่วยโรคทั่วไป โรคเรื้อรัง และอุบัติเหตุฉุกเฉิน 24 ชม.   นอกจากนี้ได้ออกเยี่ยมผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ซึ่งติดอยู่ตามบ้านด้วย
          กรมสุขภาพจิต ได้ออกหน่วยแพทย์เยียวยาจิตใจผู้ประสบภัยน้ำท่วม ร่วมกับทีมสาธารณสุขจังหวัด ได้ปฏิบัติงานในพื้นที่ประสบภัยส่วนการปฏิบัติงานในศูนย์พักพิงฯ จังหวัดต่าง ๆ ได้ตรวจสุขภาพจิต ค้นหากลุ่มเสี่ยง ปฐมพยาบาลด้านจิตใจ ให้คำปรึกษารายบุคคลและรายกลุ่ม  ทำกิจกรรมกลุ่ม  สร้างความเข้มแข็งด้านจิตใจ  ฝึกผ่อนคลายความเครียด
          นอกจากนี้กระทรวงสาธารณสุขยังได้เฝ้าระวังและควบคุมโรคระบาด เฝ้าระวังและควบคุมโรค ในศูนย์พักพิง 12 จังหวัด 72 จุด  การตรวจสอบระบบการเข้าถึงบริการวัคซีน และการขาดยาของผู้ป่วยโรคเรื้อรัง  การผลิตชุดป้องกันโรคด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม "นายสะอาด" เป็นชุดป้องกันโรคด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย ถุงดำขนาดใหญ่สำหรับใส่ขยะ ถุงดำขนาดเล็กสำหรับใส่อุจจาระ น้ำยาล้างจาน สบู่ เจลทำความสะอาดมือเพื่อฆ่าเชื้อโรค หยดทิพย์ (คลอรีนน้ำ) ใช้สำหรับฆ่าเชื้อโรคในน้ำ เพื่อนำน้ำมาอุปโภคและเมกะคลีนพลัส ใช้บำบัดน้ำเสียที่ท่วมขังเป็นเวลานาน แก้ปัญหาส้วมเต็ม หรือกำจัดกลิ่นจากกองขยะ พร้อมทั้งคำแนะนำ สำหรับผู้ประสบภัย เพื่อดูแลสุขภาพตนเองและป้องกันโรคระบาด แจกจ่ายไปยังจุดอพยพต่าง ๆ
          นอกจากนี้ได้ติดตาม  เฝ้าระวัง สนับสนุนยาเวชภัณฑ์ ให้เพียงพอรองรับสถานการณ์อุทกภัย  โดยเฉพาะยาในบัญชียาหลัก  ซึ่งโรงพยาบาลทุกแห่งต้องใช้เหมือนกัน  บางรายการใช้ในการรักษาเพิ่มมากขึ้น  เช่น   ยาปฏิชีวนะ บางรายการอาจขาดแคลน  เนื่องจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ผลิต ยาและเวชภัณฑ์ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยกระทรวงสาธารณสุข  ได้มอบให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาและองค์การเภสัชกรรม  ดำเนินการตามแผนป้องกันปัญหาขาดแคลนยาเวชภัณฑ์  นอกจากนี้ยังได้ส่งอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านหรือ อสม.  ไปปฏิบัติงานในศูนย์พักพิงและโรงพยาบาลสนามทุกแห่ง
          นพ.ชาตรี เจริญชีวะกุล เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เล่าว่า การช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ด้วยสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวย บางครั้งการลำเลียงผู้ป่วยเพียงคนเดียว ต้องใช้หลายวิธี  เช่น ต้องให้ทีมกู้ชีพไปกับเรือเพื่อรับผู้ป่วย ส่งต่อให้รถทหารซึ่งดัดแปลงเป็นรถพยาบาลยกสูง และส่งต่อให้รถพยาบาลฉุกเฉินอีกขั้นหนึ่ง  หรือใครจะคิดว่าเราถึงขั้นต้องใช้เครื่องบิน C-130 ลำเลียงผู้ป่วยหลายสิบคนในคราวเดียว นอกจากนี้ด้วยจำนวนผู้ป่วยฉุกเฉินที่รอความช่วยเหลืออยู่มาก ทั้งจากโรงพยาบาลที่กำลังจะถูกน้ำท่วม หรือแม้กระทั่งผู้ป่วยฉุกเฉิน ณ จุดเกิดเหตุ อาทิ ผู้ป่วยโรคหัวใจ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ถูกไฟฟ้าช็อต จมน้ำ เป็นต้น ประกอบกับสถานการณ์บีบบังคับ การวางแผน และทีมงานที่พร้อมและเสียสละจึงเป็นสิ่งสำคัญ
          บทสรุปการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินที่กินเวลากว่า 2 เดือน สพฉ. ภายใต้การปฏิบัติงานของ "ศูนย์การแพทย์ฉุกเฉินดอนเมือง 84"  ช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน ได้ทั้งสิ้น 2,046 ราย แต่การปฏิบัติการด้านการแพทย์ฉุกเฉิน ก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะ ศูนย์การแพทย์ฉุกเฉินดอนเมือง 84 ที่สนามบินดอนเมืองที่เคยใช้เป็นที่บัญชาการหลัก ก็ถูกน้ำท่วมหนักเช่นกัน ซึ่งจากเหตุการณ์นี้ ทำให้ สพฉ.ต้องคิดถึงแผนขั้นต่อไป คือการกระจายจุดบัญชาการไปยังภาคตะวันตก บริเวณโรงพยาบาลบางปะกอก 9  และภาคตะวันออกของกรุงเทพฯ คือสนามบินสุวรรณภูมิ และโรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี เพื่อความสะดวก และคล่องตัวในการเคลื่อนย้ายและช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินได้อย่างทันท่วงที
          จากบทเรียนครั้งนี้ทำให้ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ  มีการบ้านหนักต้องเตรียมรับมือต่อไป  เพื่อเป้าหมาย คือ การช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินให้มีคุณภาพมากที่สุด อาทิ การกระจายศูนย์บัญชาการหลักในแต่ละภูมิภาค การกระจายความครอบคลุมในส่วนของทีมกู้ชีพ การอบรมบุคลากรโดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีความเสี่ยง เช่น ชุดปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินเคลื่อนที่เร็วตอบโต้ภัยพิบัติ การอบรมบุคลากรด้านการแพทย์ฉุกเฉินให้มีประสิทธิภาพและมีความรู้เพิ่มมากขึ้น
          เป็นหลักประกันให้ประชาชนได้มั่นใจ ไม่ว่าภัยธรรมชาติจะหนักแค่ไหน ก็พร้อมรับมือ.
          จมน้ำ..ไฟดูด..มหันตภัยที่มากับน้ำท่วม
          ข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ได้สรุปข้อมูลการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับน้ำท่วม พบว่า เสียชีวิตจากจมน้ำ 779 ราย เสียชีวิตจากไฟฟ้าดูด  140 ราย
          อุปกรณ์ที่เป็นสาเหตุให้เกิดไฟฟ้าดูดเสียชีวิต อาทิ  เครื่องปั๊มน้ำ ปลั๊กไฟ เสาไฟฟ้า สายไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า ตู้เย็น ประตูเหล็ก ลูกกรงเหล็ก สายไฟฟ้าแรงสูง รถเข็นขายก๋วยเตี๋ยว
          สรุปการเสียชีวิตจากการจมน้ำและไฟดูดพบมากในเพศชาย วัยทำงาน การให้ความรู้ ร่วมกับการจัดเตรียมชูชีพให้เพียงพอ จะช่วยลดการตายได้มาก โดยต้องทำล่วงหน้าก่อนน้ำจะมาถึง
          ส่วนไฟดูดส่วนใหญ่เกิดในบ้านโดยใช้มือจับเครื่องใช้ไฟฟ้าโดยตรงขณะตัวเปียกน้ำ รองลงมาคือสัมผัสสิ่งที่ทำด้วยเหล็กซึ่งไปพาดกับสายไฟ ดังนั้นควรให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันไฟฟ้าดูดกับชุมชนตั้งแต่มีแนวโน้มว่าจะเกิดน้ำท่วม ก่อนเกิดน้ำท่วม ให้การไฟฟ้าตรวจเช็กเสาไฟฟ้าเพื่อหาจุดไฟรั่ว และปรับปรุงซ่อมแซมสายไฟที่ตกลงมาในระดับต่ำ.